สมัครงานทั้งที ไม่เคยเป็นที่ถูกเลือก จะทำยังไงถึงจะได้ถูกเลือก

สงสัยกันอยู่ใช่มั้ย ว่าทำไมคุณถึงถูกปฏิเสธไม่ได้รับเข้าทำงาน? คุณอยากให้บริษัทนั้นบอกเหตุผลคุณตามตรง ว่าทำไมถึงตัดสินใจเลือกคนอื่นที่ไม่ใช่คุณหรือเปล่า? เพราะการสมัครงานทั้งที ไม่เคยเป็นที่ถูกเลือก สักทีมันก็จะเฟลค่อนข้างมากอยู่นะ หรือรับงาน ฟรีแลนซ์ เองก็ตามการรับฟังความจริงที่โหดร้ายบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก แต่ถ้าคุณไม่รู้ว่าจุดอ่อนของคุณคืออะไร การสัมภาษณ์งานครั้งต่อไปก็อาจจะเป็นเหมือนเดิม ไม่ดีขึ้นก็ได้

 

สมัครงานทั้งที ไม่เคยเป็นที่ถูกเลือก จะทำยังไงถึงจะได้ถูกเลือก

การที่จะวิพากษ์วิจารณ์ใครอย่างตรงไปตรงมา มันไม่ใช่งานที่ HR อยากทำเท่าไหร่ และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ HR ส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงที่จะบอกข้อบกพร่อง หรือแม้กระทั่งแจ้งข่าวร้ายที่ว่าคุณไม่ได้รับการจ้างงาน ฉะนั้นเพื่อช่วยคุณในการเตรียมความพร้อมและป้องกันความผิดพลาดอันอาจจะเกิดขึ้นระหว่างการสัมภาษณ์งาน ได้รวบรวมเหตุผลว่า ทำไมคุณไม่เป็นคนที่ถูกเลือกเข้าทำงานซักที

1. คุณยังไม่ใช่คนที่ “ใช่” สำหรับงานนี้

มันอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะนำเสนอว่าคุณเหมาะกับตำแหน่งนี้ผ่านทางตัวหนังสือบนเรซูเม่ (ซึ่งเป็นเหตุผลว่าเรซูเม่ที่ดีจะเป็นใบเบิกทางที่ดีให้กับคุณ) แต่สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่าการมีเรซูเม่ที่ดีคือการที่คุณนำเสนอตัวตน ไอเดีย และมุมมองของคุณผ่านการสัมภาษณ์งานว่ามันเข้ากันได้กับสิ่งที่องค์กรต้องการหรือไม่

เพื่อป้องกันการถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าคุณไม่เหมาะกับงานนี้ คุณควรเริ่มจากการหางานที่เหมาะกับคุณมากที่สุด เลือกบริษัทที่คุณคิดว่าใช่ นั่นคือ คุณควรทำความเข้าใจกับประกาศงานก่อนที่คุณจะสมัคร เพื่อให้คุณได้งานที่ต้องการมากที่สุด

2. คุณกับผู้สัมภาษณ์งานมีเคมีไม่ตรงกัน

ธรรมชาติของคนเรา คือมักชอบคนที่มีเคมีตรงกัน และอยากสนับสนุนคนนั้นมากกว่าคนที่รู้สึกไม่ถูกชะตา คนส่วนใหญ่มักจะชอบคนที่เข้ากับเราได้ การสัมภาษณ์งานก็เช่นกัน ทำอย่างไรคุณถึงจะมีโอกาสทำคะแนนเพื่อสร้างมิตรภาพกับผู้สัมภาษณ์งาน? แน่นอนว่าคุณต้องทำการบ้านเพิ่มเติมค่ะ

ในการเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์งาน การทำการบ้าน หรือหาข้อมูลไม่ควรหยุดอยู่แค่หาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและตำแหน่งงานเท่านั้น ถ้าเป็นไปได้ คุณควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคนที่จะสัมภาษณ์งานคุณด้วย พยายามสืบให้ได้ว่าใครจะเป็นผู้สัมภาษณ์งาน คุณอาจหาข้อมูลเกี่ยวกับเขาคนนั้นจากทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ หรือสอบถามจากเพื่อนหรือคนรู้จักในแวดวงของคุณเกี่ยวกับเขาคนนั้น หากคุณเตรียมตัวมาดี โอกาสในการผ่านรอบสัมภาษณ์งานก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

3. คุณไม่ได้รับเลือกเพราะแพ้ให้กับเส้นสาย

องค์กรโดยมากมีกระบวนการคัดเลือกคนเข้าทำงานโดยใช้วิธีการบอกต่อหรือแนะนำกันมาผ่านทางพนักงานปัจจุบันที่ทำงานอยู่ เพราะ “เพื่อนของเพื่อน” มักจะเป็นที่น่าไว้ใจและให้ความรู้สึกวางใจที่จะรับเข้าทำงานมากกว่าคนแปลกหน้าที่ต้องเริ่มทำความรู้จักใหม่ตั้งแต่ต้น คุณสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยการหมั่นสร้างไมตรี และสานต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและเพื่อนของคุณอย่างสม่ำเสมอ โลกแคบไปทันตาถ้าคุณมีเพื่อนหรือญาติที่ทำงานอยู่ที่องค์กรที่คุณอยากทำงานด้วยและเขาเหล่านั้นสามารถช่วยคุณได้

4. คุณดูเหมือนว่าจะอยู่ที่ไหนไม่ได้นาน

แม้ว่าการเปลี่ยนงานบ่อยจะถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในวัฒนธรรมการทำงานของคนในยุคนี้ แต่ข้อเสียของมันก็คือ การมีประวัติการทำงานที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบนเรซูเม่อาจทำให้คุณถูกมองว่าเป็นคนเหลาะแหละ จับจด ไม่มั่นคง และอยู่ที่ไหนไม่ได้นาน และอาจทำให้คุณเสียโอกาสในการได้งานที่คุณต้องการก็เป็นได้ ฉะนั้นคุณควรใช้ช่วงเวลาในการสัมภาษณ์งานให้เป็นประโยชน์โดยการอธิบายเหตุผลที่ทำให้คุณมีเรซูเม่เช่นนั้น

5. คุณดูพยายามมากเกินไป

การโปรโมทตนเองในการสัมภาษณ์งานถือเป็นศิลปะอันละเอียดอ่อน คุณต้องแสดงออกอย่างมั่นใจ ใช้กลเม็ดและปฏิภาณไหวพริบต่าง ๆ ในการพรีเซนท์ตัวเองให้ดูพอดี ๆ ไม่มากจนดูเป็นคนขี้อวดขี้โม้ หรือหลงตัวเองจนเกินไป คุณควรสร้างความสมดุลระหว่างการโฆษณาความสำเร็จของคุณกับความอ่อนน้อมถ่อมตนและให้เครดิตกับคนรอบข้างที่มีส่วนช่วยให้คุณประสบความสำเร็จด้วย

6. คุณทำผิดพลาดมากเกินไประหว่างการสัมภาษณ์งาน

ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดที่เกิดจากความประหม่าในขณะสัมภาษณ์งานนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ยอมรับกันได้ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ใช่ตัวบ่งบอกว่าเราเป็นคนอย่างไรแต่การที่เราแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นอย่างไรต่างหากที่จะบ่งบอกถึงอุปนิสัยของเรา การแก้ไขข้อผิดพลาดที่ชาญฉลาดจะเป็นตัวบอกว่าคุณมีปฏิภาณไหวพริบและมีคอมมอนเซนส์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญในการทำงานภายใต้ความกดดันต่าง ๆ เช่น การเผชิญหน้ากับลูกค้าที่กำลังวีนเหวี่ยง เป็นต้น การฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเล็ก ๆ น้อย ๆ บ่อย ๆ จะช่วยให้คุณผ่านพ้นสถานการณ์อันน่าอึดอัดหากมันเกิดขึ้นกับคุณระหว่างการสัมภาษณ์งานครั้งต่อไป

7. คุณปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ได้

เหตุผลข้อนี้เกี่ยวข้องโดยตรงหากคุณต้องไปเป็น expat หรือต้องไปทำงานต่างประเทศที่คุณไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ ถ้าคุณไม่เคยไปประเทศนั้นเลย คุณควรศึกษาประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างละเอียดก่อนการเข้าสัมภาษณ์งานเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์