Anxiety Disorder

กำลังเป็นโรค​วิตกกังวล Anxiety Disorder จากการทำงานอยู่หรือเปล่า?

วัยทำงาน คือช่วงเวลาที่ผลักดันให้ทุกคนต้องรับผิดชอบกับชีวิตของตัวเอง ความวิตกกังวลจึงมีมากขึ้นก่อให้เกิดโรค Anxiety Disorder ก็เป็นได้ ด้วยบทบาทใหม่ที่ไม่เหมือนกับตอนเรียนที่เรามีหน้าที่หลักคือการเรียนให้ดี สอบให้ผ่านเพียงเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ระดับความเครียด ความกดดัน และภาระหน้าที่ของวัยทำงานจะมีมากกว่าวัยเรียนมาก และนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของความรู้สึกกังวลใจต่าง ๆ ที่ประดังประเดเข้ามา จนทำให้หลายคนเกิดอาการ “วิตกกังวลมากเกินไป” จนวันหนึ่งที่จิตใจเริ่มรับไม่ไหว กลายเป็น “โรควิตกกังวล” (Anxiety Disorder) ตามมา

จาก 15% ของประชากรจะเป็นโรควิตกกังวลในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต นี่คือข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค และยังพบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 60% ซึ่งสาเหตุของโรควิตกกังวล นอกจากจะมาจากพันธุกรรม หรือ พื้นฐานการเลี้ยงดูแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุหลักของโรคเกิดจากสภาพแวดล้อม ประสบการณ์ส่วนตัว เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง หรือเหตุการณ์ความเครียดที่สะสมเป็นระยะเวลานาน และด้วยสภาพสังคมในโลกยุคดิจิทัลที่มีการแข่งขันสูง ความเครียด ความกดดันที่เกิดขึ้นทำให้คนในวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะเป็นโรควิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่มีท่าทางว่าจะลดลงเลย ซึ่งโรควิตกกังวลเองก็สามารถแบ่งย่อยได้อีก ตามอาการที่แตกต่างกันออกไป

 ประเภทของโรควิตกกังวลในวัยทำงาน

  • โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) คือ อาการกังวลในเรื่องประจำวันทั่ว ๆ ไปที่มีมาก และกินระยะเวลานานเกินไป เช่น กลัวทำงานไม่ทันเดดไลน์ กลัวทำงานออกมาได้ไม่ดี กังวลเรื่องความสามารถของตัวเอง กังวลเรื่องแผนการทำงานที่มีความไม่แน่นอน มีหัวหน้าเจ้าระเบียบทำให้ต้องพยายามทำงานให้เป๊ะตลอดเวลา
  • โรคแพนิก (Panic Disorder) คือ อาการกลัวและวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเกิดอาการกังวลกับทุกเรื่องมากเกินความพอดี ทำให้คนที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการมือสั่น หายใจเร็ว หัวใจเต้นแรง เหนื่อย หอบ เหงื่อออก เจ็บหน้าอก เวียนหัว รู้สึกสำลัก หรือคลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน เมื่อเจอเรื่องที่ทำให้รู้สึกท้าทาย เช่น ต้องพูดในห้องประชุม ต้องออกไปพรีเซนต์ผลงาน ต้องไปทำงานในที่ใหม่ ๆ หรือแม้แต่ความกังวลที่เกิดจากการรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกที่จะมีผลต่องานได้ เป็นต้น
  • โรคกลัวสังคม (Social Phobia) คือ อาการวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่ในความสนใจของคนอื่น หรือต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็ได้ อาจจะเกิดขึ้นตอนที่ต้องออกไปพรีเซนต์ในห้องประชุม หรือแม้แต่การต้องเข้าไปรวมกลุ่มคุยกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งบางคนอาจจะเคยเจอการถูกบูลลี่ในที่ทำงาน หรือไม่แน่ใจว่าจะบริหารความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และ เจ้านายอย่างไรดี โดยคนที่เป็นโรคนี้มักจะรู้สึกประหม่า กดดัน และคิดในแง่ลบกับคนอื่น เมื่อต้องเข้าสังคมแทบทุกครั้ง จนทำให้รู้สึกไม่อยากเข้าสังคมตามมา
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) คือ อาการกังวลจากความคิดซ้ำไปซ้ำมา และทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ เพื่อตอบสนองความวิตกกังวลนั้น เช่น รู้สึกว่ามือไม่สะอาดแม้จะล้างมือแล้วหลายครั้ง เช็กอีเมลตลอดเวลา เพราะกลัวจะพลาดข้อมูลสำคัญอะไรไป กลัวว่าลืมปิดคอม ก็จะคอยเช็กว่าตัวเองได้ปิดคอมแล้วรึยัง และถึงจะออกจากออฟฟิศแล้ว ถ้ายังกังวลอยู่ก็จะกลับเข้าไปออฟฟิศอีกครั้งเพื่อตรวจสอบดูว่าได้ปิดคอมแล้วจริงไหม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.